IMPAC-T ร่วมมือวิจัยกับมหาวิทยาลัยพะเยา โดยติดตั้งสถานีจุลอุตุนิยมวิทยา

2013-10-04_224425

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้ลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) ในการทำวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นภายใต้โครงการ Integrated Study Project on Hydro-Meteorological Prediction and Adaptation to Climate Change in Thailand (IMPAC-T) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก JICA

โดยมีเป้าหมายเพื่อติดตาม ประเมิน และตรวจสอบผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ซึ่งทีมนักวิจัยได้เห็นความสำคัญของป่าไม้ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดพะเยาที่ยังอุดมสมบูรณ์ จึงได้เข้ามาสำรวจ  โดย มพ.อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อติดตั้งเสา Monitoring tower ความสูง 42 เมตร ภายใต้ชื่อ Dry dipterocarp forest flux Phayao site, Thailand (DPT)  ซึ่งทำงานภายใต้โครงการ Micrometeorology Laboratory (MiLab) เพื่อตรวจวัดข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยา การแลกเปลี่ยนพลังงาน การแลกเปลี่ยนก๊าซ CO2 ระหว่างบรรยากาศ ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อ มพ.ในด้านการเรียนการสอนของนิสิต อาจารย์ นักวิจัย รวมถึงชุมชน และยังมีประโยชน์ต่อจังหวัดพะเยาในการติดตามข้อมูลข่าวสารการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ ทั้งเรื่องปริมาณน้ำฝน หมอกควัน ภัยแล้ง ในภาคเหนือได้อีกด้วย
สำหรับการทำงานของสถานีตรวจวัดจุลอุตุนิยมวิทยา แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกชุดอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนเสา Monitoring tower ความสูง 42 เมตร เป็นการตรวจวัดภูมิอากาศทั่วไป   ส่วนที่สองเกี่ยวกับดิน ทำการตรวจวัดความชื้นและอุณหภูมิในดิน ทั้งสองส่วนจะเชื่อมต่อโดยการใช้ Data logger model CR1000 for data correction ในการเก็บข้อมูล   และทำการตรวจวัดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถรายงานผลแบบ real time   สถานีตรวจวัดจุลอุตุนิยมวิทยาดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.มนตรี แสนวังสี  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม